ภาควิชานฤมิตศิลป์ได้เริ่มรับนิสิตเข้าศึกษาในหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต (ปริญญาตรี) ตั้งแต่ปีการศึกษา 2528 เพื่อผลิตบัณฑิตตามวิชาเอกทั้ง 4 ที่มีการเรียนการสอนในภาควิชา ได้แก่ เรขศิลป์ (Creative Graphics) หัตถศิลป์ (Creative Crafts) มัณฑนศิลป์ (Creative Decoration) และนิทรรศการศิลป์ (Creative Exhibition) โดยมุ่งหมายให้บัณฑิตเหล่านี้เป็นนักออกแบบมืออาชีพที่มีความรอบรู้และทักษะในวิชาชีพเฉพาะด้าน พร้อมกับเป็นนักวิชาการคือเป็นผู้ใฝ่รู้ สามารถแสวงหาความรู้ใหม่ได้ด้วยตนเอง การเรียนการสอนมีลักษณะที่ท้าทายความคิดสร้างสรรค์ และก่อให้เกิดพัฒนาการส่วนบุคคลอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อฝึกฝนให้พร้อมสำหรับการทำหน้าที่ผู้บุกเบิกทางการออกแบบที่สามารถนำเสนอวิธีการในการแก้ปัญหาทั้งทางด้านการตลาด สังคมหรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หรือเป็นปัญหาที่มีซับซ้อนกว่าเดิมได้ ขณะนี้ภาควิชารับนิสิตเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีปีละ 30 คน

ต่อมาในปีการศึกษา 2540 ภาควิชาได้เริ่มรับนิสิตเข้าศึกษาในหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (ปริญญาโท) ในแขนงวิชาเรขศิลป์ เพื่อผลิตนักวิชาการและนักสร้างสรรค์ที่ต้องการศึกษาการสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบของสาขาวิชาชีพในแนวลึกซึ่งไม่อาจทำได้ในหลักสูตรขั้นปริญญาตรี การเรียนการสอนจึงเน้นหนักในการศึกษาทฤษฎี การค้นคว้า วิจัย และการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสร้างหลักการที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ร่วมกับทักษะและวิทยาการทางการออกแบบเพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่ชี้นำทิศทางการออกแบบการ ไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบหรือวิชาการทางการออกแบบที่มีหน้าที่การงานหรือธุรกิจส่วนตัว ซึ่งจะเป็นการเผยแพร่วิทยาการทางการออกแบบให้ขยายไปในวงกว้างต่อไป ขณะนี้ภาควิชารับนิสิตเข้าศึกษาในระดับปริญญาโท (ภาคปกติ) ปีละ 4-8 คน

ตั้งแต่ปีการศึกษา 2546 เป็นต้นมา ภาควิชาได้เปิดทำการเรียนการสอนนอกเวลาราชการโดยรับนิสิตเข้าศึกษาในหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (ปริญญาโท) ในแขนงวิชาเรขศิลป์ และแขนงวิชาแฟชั่นและสิ่งทอ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษาให้แก่ผู้ที่ต้องการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมโดยไม่ต้องลาออกจากงานประจำที่ทำอยู่ ขณะนี้ภาควิชารับนิสิตเข้าศึกษาในระดับปริญญาโท (ภาคนอกเวลาราชการ) ทั้ง 2 แขนงวิชารวมปีละ 20-30 คน

วิชาเอกและแขนงวิชา
ในปัจจุบัน ภาควิชาเปิดสอนวิชาเอกและแขนงวิชาต่างๆ ดังนี้

1. เรขศิลป์ ทำการสอนด้านการออกแบบสื่อสารผ่านสื่อที่เป็นสิ่งพิมพ์ หรือสื่ออิเลคโทรนิคอื่นๆ เช่นการออกแบบแผ่นพับ หนังสือ นิตยสาร บรรจุภัณฑ์ เรขศิลป์เพื่อสภาพแวดล้อม เวปดีไซน์ รวมทั้งการออกแบบสร้างสรรค์โฆษณา เปิดสอนทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท (ทั้งภาคปกติและภาคนอกเวลาราชการ)

2. หัตถศิลป์ ทำการสอนด้านการออกแบบสื่อสารผ่านสื่อที่เป็นเครื่องปั้นดินเผา เช่น ภาชนะต่างๆ กระเบื้องประดับฝาผนัง รวมทั้งผลิตภัณฑ์ตกแต่งบ้าน เช่น โคมไฟ กระถางต้นไม้ เป็นต้น เปิดสอนเฉพาะในระดับปริญญาตรี

3. มัณฑนศิลป์ ทำการสอนด้านการออกแบบสื่อสารผ่านสื่อที่เป็นแฟชั่น เครื่องแต่งกาย รวมถึงศึกษาเรื่องการออกแบบลายผ้าที่ใช้สำหรับเครื่องแต่งกาย อีกทั้งยังศึกษาการออกแบบสิ่งประกอบเครื่องแต่งกาย เช่น รองเท้า กระเป๋า เป็นต้น เปิดสอนทั้งในระดับปริญญาตรี ส่วนในระดับปริญญาโท เปิดสอนเฉพาะภาคนอกเวลาราชการโดยเรียกเป็นแขนงวิชาแฟชั่นและสิ่งทอ

4. นิทรรศการศิลป์ ทำการสอนด้านการออกแบบสื่อสารผ่านสื่อที่เป็นนิทรรศการ ทั้งที่เป็นนิทรรศการชั่วคราว เช่น พื้นที่แสดงสินค้า นิทรรศการเพื่อการศึกษา และนิทรรศการถาวร เช่น พิพิธภัณฑ์ เป็นต้นเปิดสอนเฉพาะในระดับปริญญาตรี